top of page
ค้นหา

วัตถุลึกลับพุ่งชนโลก

  • รูปภาพนักเขียน: stu-astronomy
    stu-astronomy
  • 20 พ.ย. 2558
  • ยาว 1 นาที

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วัตถุลึกลับดวงหนึ่งจากอวกาศได้พุ่งเข้าสู่โลก วัตถุนี้มีชื่อว่า ดับเบิลยูที 1190 เอฟ (WT1190F) ค้นพบโดยโครงการแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาเมื่อปี 2556 คาดว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร จากการติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุดวงนี้พบว่ามีการตอบสนองต่อลมสุริยะเด่นชัดมาก แสดงว่ามีมวลน้อยมาก อาจมีความหนาแน่นเพียงหนึ่งในสิบของน้ำเท่านั้น การที่วัตถุนี้มีการเคลื่อนที่ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และมีความหนาแน่นต่ำกว่าสะเก็ดดาวทั่วไปมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ดับเบิลยูที 1190 เอฟ อาจเป็นชิ้นส่วนของจรวดที่เดินทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ลำใดลำหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ในวงโคจร วัตถุดวงนี้ตกลงสู่ผิวโลกที่มหาสมุทรอินเดีย ที่ตำแหน่งห่างจากชายฝั่งของประเทศศรีลังกาไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อเวลา 11:50 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นตรงตามที่คาดการณ์ไว้ แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดหวังก็คือ ไม่มีใครบนฝั่งของศรีลังกาได้เห็นการตกอันตระการตานี้เลย เนื่องจากในวันเวลาดังกล่าวมีเมฆหนาแน่นปกคลุมทั่วพื้นที่และฝนตก มีเพียงรายงานการได้ยินเสียงโซนิกบูมจากคนบนฝั่งเท่านั้น หนึ่งในผู้โชคดีเพียงไม่กี่คนก็คือ คณะนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ดาราศาสตร์นานาชาติและองค์การอวกาศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งได้สำรวจปรากฏการณ์นี้จากเครื่องบินที่ดัดแปลงเป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้า จึงมองเห็นและบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ได้ ดับเบิลยูที 1190 เอฟ ได้พุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยความเร็ว 40,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและสลายไปในบรรยากาศทั้งหมด ไม่เหลือชิ้นส่วนหลงเหลือให้เก็บมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นวัตถุชนิดใด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าสามารถบันทึกสเปกตรัมของแสงจ้าจากการตกครั้งนี้ได้ด้วยความละเอียดสูง จึงอาจให้เบาะแสถึงที่มาของวัตถุชิ้นนี้ได้ ปัจจุบันองค์การนาซาและอีซาติดตามขยะอวกาศเป็นจำนวนกว่า 500,000 ชิ้นด้วยเรดาร์และกล้องถ่ายภาพ ขยะอวกาศเหล่านี้โคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูงถึง 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องมือของสององค์กรนี้ตรวจจับวัตถุที่เล็กถึงระดับ 5 เซนติเมตรได้ ในจำนวนนี้พบว่ามีมากถึง 20,000 ชิ้นที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกฟุตบอล แต่ยังมีอีกหลายล้านชิ้นที่มีขนาดเล็กจนตรวจจับไม่ได้ ในปี 2552 ดาวเทียมสื่อสารเอกชนสัญชาติอเมริกันได้ชนกับดาวเทียมทหารของรัสเซียเหนือน่านฟ้าไซบีเรีย นับเป็นครั้งแรกที่วัตถุมนุษย์สร้างสองชิ้นชนกันในอวกาศ การชนในครั้งนั้นได้ส่งเศษชิ้นส่วนดาวเทียมกว่า 2,200 ชิ้นกระจายไปทั่วบริเวณ ปัจจุบัน มีการส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่อวกาศปีละ 60-70 ดวง การจราจรในอวกาศจึงแออัดคับคั่งขึ้นทุกวัน โอกาสที่จะชนกันเองย่อมมากขึ้นด้วย และการชนแต่ละครั้งก็จะยิ่งเพิ่มขยะในอวกาศในวงโคจรขึ้นไปอีก การศึกษาการเคลื่อนที่และการตกลงสู่บรรยกาศของดับเบิลยูที 1190 เอฟนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการทำความเข้าใจการเคลื่อนที่ของขยะอวกาศจนกระทั่งพุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลก เพื่อเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์การชน และหาวิธีในการหลบเลี่ยงให้แก่ยานอวกาศ

 
 
 

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
NASA Reaches New Heights in 2015

In 2015, NASA explored the expanse of our solar system and beyond, and the complex processes of our home planet, while also advancing the...

 
 
 

Comments


© 2023 by Astronomy Students. Proudly created with Wix.com

bottom of page